Tuesday, June 24, 2008

การเพาะในตะกร้าเหลี่ยม

การเพาะในตะกร้าเหลี่ยม
วัสดุและอุปกรณ์
1. ตะกร้าทรงเตี้ยแบบเหลี่ยม กว้าง 30 ซม. ยาว 45 ซม. สูง 15 ซม. โดยจะมีผนังตะกร้าแบบโปร่งหรือแบบทึบก็ได้
2. ฟางแห้งแช่น้ำ
3. ขี้ฝ้ายหมักบัญชา
4. ปุ๋ยคอก (ขี้วัว)
5. แป้งข้าวเหนียว
6. เชื้อเห็ดฟาง

ขั้นตอนการเพาะ
1. ใช้ฟางแช่น้ำรองที่พื้นตะกร้าด้านใน สูงประมาณ 1 ฝ่ามือ
2. ใส่ขี้ฝ้ายหมักบัญชาบนฟาง หนา 2 ข้อนิ้ว (ใส่ให้เต็มพื้น ไม่ใช่โรยขอบตะกร้า)
3. โรยขี้วัวบาง ๆ
4. โรยเชื้อเห็ดฟางที่คลุกกับแป้งข้าวเหนียวแล้วให้เต็มหน้า แล้วกดให้แน่นพอสมควร
5. รดน้ำให้ทั่วตะกร้าเพาะ (ครึ่งลิตร) ก็เป็นอันเสร็จสิ้นการเพาะ 1 ตะกร้า
6. วางตะกร้าที่เพาะแล้วบนพื้นเรียบที่มีฟางแช่น้ำรองพื้นอยู่ (ฟางหนา 1 ฝ่ามือ)
7. วางตะกร้าซ้อนกัน 3 ชั้นเรียงเป็นแนวยาว รวมประมาณ 20 ตะกร้า
8. คลุมพลาสติกให้มิดชิด ปล่อยไว้ 3 วัน เพื่อบ่มเส้นใย
9. วันที่ 4 เปิดพลาสติกออกให้ลมพัดตะกร้า เพื่อให้เส้นใยยุบลง พร้อมใช้น้ำฉีดตัดเส้นใย แล้วปิดพลาสติกให้มิดชิดเหมือนเดิม
10. ทุก ๆ วันให้เปิดพลาสติกออก เพื่อเป็นการเพิ่มอ๊อกซิเจนแก่ตะกร้าเพาะ แล้วปิดทันที
11. พอครบ 8-9 วัน ก็สามารถเก็บดอกเห็ดที่โตได้ (สามารถเก็บดอกเห็ดได้ 5 - 6 วันก็หมดรอบ น้ำหนักรวมประมาณ 0.3 - 0.5 กก.ต่อตะกร้า)











การเพาะในตะกร้ากลม

การเพาะเห็ดฟางในตะกร้ากลม
การเตรียมวัสดุอุปกรณ์
1. ตะกร้าทรงสูง ขนาดปากตะกร้ากว้าง 45 ซม. สูง 60 ซม. มีรูตะกร้าขนาด 1 นิ้ว รอบตะกร้า
2. ฟางแห้ง
3. วัสดุเพาะ "ขี้ฝ้ายหมักบัญชา"
4. ปุ๋ยคอก (ขี้วัวแห้ง)
5. แป้งข้าวเหนียว
6. เชื้อเห็ดฟาง

ขั้นตอนการเพาะ
1. แช่ฟางแห้งในน้ำสะอาด แล้วย่ำให้ฟางนุ่มลง แช่น้ำไว้ 30 นาที แล้วสรงออกจากถังหมัก วางไว้ให้ฟางหมาด ๆ
2. รองฟางที่หมาด ๆ นั้นในตะกร้า ให้หนาประมาณ 1 ฝ่ามือ กดให้แน่น
3. โรยขี้ฝ้ายหมักบนฟางหนา 2 ข้อนิ้ว ให้ชิดขอบตะกร้า (อาจจะมีบางส่วนหลุดลอดรูตะกร้าบ้างก็ไม่เป็นไร)
4. โรยขี้วัวบาง ๆ บนขี้ฝ้ายหมัก
5. โรยเชื้อเห็ด(ที่คลุกแป้งข้าวเหนียวแล้ว) บนขี้ฝ้ายหมัก แล้วกดให้เชื้อติดกับขี้ฝ้ายหมักให้แน่น (เสร็จสิ้นการเพาะชั้นที่ 1)
6. ทำชั้นที่ 2 ชั้นที่ 3 และชั้นที่ 4 เช่นเดียวกับชั้นที่ 1
7. เมื่อเสร็จสิ้นทุกชั้นแล้ว ให้ใช้น้ำที่แช่ฟาง 1 ลิตร รดชั้นบนสุด
8. นำตะกร้าไปวางบนพื้นที่เรียบ ๆ โดยพื้นนั้นให้รองพื้นด้วยฟางแช่น้ำก่อน (หนา 1 ฝ่ามือ)
9. วางเรียงตะกร้าคู่เป็นแนวยาวรวม 10 ตะกร้า(หรือมากกว่า 10 ตะกร้าก็ได้)
10. คลุมด้วยพลาสติกผืนเดียว ให้มิดชิด เพื่อเก็บความร้อนและความชื้น (ควรวางตะกร้าบนที่โล่งแจ้ง โดยให้มีร่มรำไร)
11. หาวัสดุหนัก ๆ ทับชายพลาสติกให้รอบ แล้วทิ้งไว้ 3 วันโดยไม่ต้องทำอะไรเลย
12. วันที่ 4 ให้เปิดพลาสติกออกทั้งหมด เพื่อให้ลมโกรกตะกร้า แล้วฉีดน้ำเพื่อตัดเส้นใย (ใช้เวลาประมาณ 15 นาที) แล้วปิดพลาสติกไว้เช่นเดิม
13. ช่วงบ่ายของทุกวัน ให้ทำการเปิดพลาสติกให้ลมโกรกตะกร้า แล้วปิดพลาสติกทันที
14. ทำแบบนี้ทุกวัน พอครบ 8 วันของการเพาะ ก็มีดอกเห็ดอย่างที่เห็นในเว็บของเรานี้แล้วครับ (สามารถเก็บดอกที่โตได้ขนาดทุกวัน เป็นเวลา 5 - 6 วัน ก็หมดรุ่น จะได้ผลผลิตรวม 0.6 - 1 กก.ต่อตะกร้า)






Friday, June 20, 2008

ขั้นตอนการเพาะกับพื้น และผลผลิตดอกเห็ด(แบบกองกลางแจ้ง)

เป็นการเพาะกับพื้นแบบกองเตี้ย เหมาะสำหรับเกษตรกรหรือผู้สนใจที่ต้องการเริ่มเพาะเห็ดฟางแบบง่าย ๆ ใช้เงินลงทุนน้อย ไม่ต้องใช้ชั้นเพาะ ไม่ต้องมีโรงเรือน สามารถเพาะบนพื้นที่ว่างของบริเวณบ้าน ในสวน หรือเมื่อเพาะชำนาญแล้ว ก็สามารถขยายพื้นที่เพาะในไร่ หรือท้องนาได้ ซึ่งจะสามารถสร้างรายได้สูงมาก โดยใช้ระยะเวลาเพียง 7 - 10 วันเท่านั้น
การเพาะ มีรายละเอียดดังนี้
1. เตรียมพื้นที่เพาะซึ่งจะเพาะบนดินหรือบนพื้นคอนกรีตก็ได้ ถ้าเป็นพื้นดินก็ให้พรวนดินให้ร่วนเหมือนการปลูกผัก แล้วตากดินไว้ 1 วัน
2. โรยฟางแห้งที่แช่น้ำจนนุ่มแล้ว บนดินที่ร่วนซุยนั้น (หากเพาะบนพื้นปูน ก็ให้หาดินร่วนมาโรยบนปูนก่อน แล้วจึงโรยฟาง)
3. วางแบบไม้ที่จะใช้อัดก้อนเพาะบนฟางที่โรย
4. ใส่ฟางที่แช่น้ำจนนุ่มแล้วลงในแบบไม้ หนาประมาณ 3 - 5 นิ้ว
5. ใส่อาหารเสริม *ขี้ฝ้ายหมัก* บนฟางบริเวณขอบ ๆ แบบไม้ด้านใน หนาประมาณ 2 ข้อนิ้วชี้ของเรา
6. โรยขี้วัวแห้งบาง ๆ บนขี้ฝ้ายหมัก
7. โรยเชื้อเห็ดฟางบนขี้ฝ้ายหมักให้รอบแบบไม้เพาะ (พยายามโรยให้ชิดขอบแบบไม้ที่สุด) ถือว่าเสร็จสิ้นชั้นที่ 1
8. สำหรับชั้นต่อ ๆ ไป ก็ทำทุกอย่างเหมือนชั้นที่ 1 โดยทำ 4 - 5 ชั้นก็ได้
9. เมื่อครบทุกชั้นแล้ว ให้รดน้ำสะอาดบนกองเพาะประมาณ 1 ลิตร แล้วก็ดึงแบบไม้ออก วางแบบไว้ให้ห่างจากกองเดิมประมาณ 20 ซม. แล้วอัดก้อนเหมือนเดิม
10. ทำไปเรื่อย ๆ ให้ได้สัก 10 กอง
11. คลุมกองทั้งหมดด้วยพลาสติกให้มิดชิด (ให้ทั้ง 10 กองอยู่ในซุ้มเดียวกัน) พรางแสงด้วยพลาสติกดำ หรือฟางแห้ง ใบไม้ ใบตอง ฯลฯ
12. ปล่อยทิ้งไว้ 3 วัน จึงเปิดตัดใย
13. หลังจากนั้นอีก 5-6 วันก็เก็บดอกเห็ดได้แล้ว